- กำเนิดดาวฤกษ์
ดาวฤกษ์เกิดจากกลุ่มฝุ่นก๊าซ ส่วนใหญ่ประกอบด้วยไฮโดรเจน ที่รวมตัวกันจนอุณหภูมิและความกดดันสูงมากที่ใจกลาง
ทำให้เกิดปฏิกิริยาเทอร์โมนิวเคลียร์แบบหลอมรวมตัวเปลี่ยนไฮโดรเจนเป็นฮีเลียม คือปฏิกิริยาของระเบิดไฮโดรเจนเกิดเป็นก้อนก๊าซร้อนขนาดใหญ่ ดาวฤกษ์มีมวลสารและขนาดที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับกลุ่มฝุ่นก๊าซที่รวมตัวกันครั้งแรก
- ช่วงอายุของดาวฤกษ์
อายุของดาวฤกษ์ คือระยะเวลาของการเผาผลาญเชื้อเพลิงไฮโดรเจน เมื่อเชื้อเพลิงหมดก็จะเกิดวาระสุดท้ายของดาวฤกษ์ดวงนั้น สีและการส่องสว่างของดาวฤกษ์อาจบอกถึงอายุของดาวฤกษ์ได้ เพราะดาวฤกษ์เกิดใหม่มีพลังงานมาก อุณหภูมิสูงมองเห็นเป็นสีฟ้า เมื่อเชื้อเพลิงไฮโดรเจนค่อย ๆ ลดลงเป็นลำดับ อุณหภูมิจะเปลี่ยนแปลงลดลงไปด้วย สีจะเปลี่ยนเป็นสีขาว สีเหลือง และสีแดงก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงครั้งสุดท้ายที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับมวลของดาวฤกษ์ดวงนั้น
- วาระสุดท้ายของดาวฤกษ์
เมื่อดาวฤกษ์ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนเกือบหมด ฮีเลียมจะกลายเป็นเชื้อเพลิงต่อไป จะเปลี่ยนแปลงเป็นธาตุอื่น ๆ ต่อไปจน
เชื้อเพลิงหมดลง ดาวฤกษ์จะเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงจากการขยายเป็นดาวยักษ์แดง วาระสุดท้ายจะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับมวลสารของดาวฤกษ์ดาวนั้น
ดาวฤกษ์มวลสารน้อยขนาดเล็ก กลายเป็น ดาวแคระขาว
ดาวฤกษ์มวลสารปานกลาง กลายเป็น ดาวนิวตรอน
ดาวฤกษ์มวลสารมาก กลายเป็น หลุมดำ
- ดาวแคระขาว
วาระสุดท้ายของดาวฤกษ์ขนาดเล็ก มวลสารน้อย หลังจากขยายตัวเป็นดาวยักษ์แดงแล้วจะหดตัวลง ปฏิกิริยานิวเคลียร์สิ้นสุดลง และพลังงานความร้อนเดิมยังมีอยู่ เรียกว่า ดาวแคระขาว จะค่อย ๆ เย็นตัวลงที่สุดจะกลายเป็นก้อนสสารอัดแน่นไม่มีแสงสว่าง เรียกว่า ดาวแคระดำ
- ดาวนิวตรอน
วาระสุดท้ายของดาวฤกษ์ขนาดกลาง เมื่อดาวฤกษ์ใช้เชื้อเพลิงจนหมด มีการเปลี่ยนแปลง อาจระเบิดออกเรียกว่า ซุปเปอร์โนวา คงเหลือมวลสารขนาดเล็กหดตัวต่อไปเรื่อย ๆ จนทำให้อิเล็กตรอนที่มีประจุลบอัดรวมตัวกับโปรตรอนที่มีประจุบวก กลายเป็นดาวนิวตรอนขนาดเล็ก ดาวนิวตรอนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 20 กิโลเมตร มีมวลสารมากกว่าดวงอาทิตย์เสียอีก
- หลุมดำ
วาระสุดท้ายของดาวฤกษ์ขนาดใหญ่มวลสารมาก การหดตัวไม่หยุดลงเหมือนดาวแคระขาวหรือดาวนิวตรอน จะเกิดเป็นหลุมดำที่มีแรงดึงดูดสูงมาก แม้แสงก็ไม่สามารถเล็ดลอดออกมาได้