คุณค่าและความสำคัญในระบบนิเวศป่าชายเลน
ด้านป่าไม้ ไม้จากป่าชายเลนได้นำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ทำฟืนหรือถ่าน
- ใช้ในการก่อสร้าง เช่น ทำเสาเข็ม ไม้ค้ำยัน
- ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์
- ใบจากมุงหลังคาและมวนบุหรี่
- ด้านประมง เป็นแหล่งที่วางไข่และอนุบาลตัวอ่อน เป็นแหล่งที่อยู่และที่หลบภัยของปลาต่าง ๆ
- ความสำคัญของด้านการอนุรักษ์พื้นที่ชายฝั่งทะเล
- เป็นสถานที่หลบภัยตามธรรมชาติ
- ป้องกันสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ โดยทำหน้าที่กรองสารปฏิกูล
ด้านยารักษาโรค เช่น
- เปลือกไม้โกงกางใบเล็ก สามารถนำมาต้มกินแก้ท้องร่วง
- ต้นและรากของต้นเหงือกปลาหมอดอกน้ำเงิน นำมาต้นน้ำผสมน้ำอาบ แก้ผดผื่นคัน โรคผิวหนัง
- เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ |
 |
สถานการณ์ปัจจุบันของระบบนิเวศป่าชายเลน
ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมจากรมป่าไม้เมื่อปี 2543 แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าชายเลน 1,526,006.25 ไร่ เพิ่มขึ้นจากการสำรวจเมื่อปี 2539 จำนวน 478,616.25 ไร่ ทั้งที่น่าสังเกตว่า ในการสำรวจครั้งนี้ได้เพิ่มนราธิวาสเป็นจังหวัดที่ 24 ทีมีพื้นที่ป่าชายเลนด้วยจำนวน 473.5 ไร่ หลังจากที่ตกสำรวจมาเป็นเวลานาน ขณะเดียวกันการสำรวจครั้งนี้กลับไม่แสดงพื้นที่ป่าชายเลนของจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเคยมีจำนวน 1,857.50 ไร่ ในการสำรวจเมื่อปี 2539
โดยภาพรวมป่าชายเลนของไทยนับว่าตกอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม อันเป็นภาวะที่ต่อเนื่องมานับ 40 ปี ดังที่ตัวเลขแสดงให้เห็นชัดเจนว่าภายในช่วงเวลาดังกล่าวพื้นที่ป่าชายเลนได้สูญหายไปถึงประมาณ 1 ล้านไร่
สาเหตุของการลดลงของป่าชายเลน
- การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยเฉพาะการทำนากุ้ง พื้นที่ป่าชายเลนเป็นแหล่งผลิตอินทรีย์สารและธาตุอาหารที่สำคัญ สำหรับสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลนซึ่งมีมากมายหลายชนิด เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา เป็นต้น ดังนั้นการแผ้วถางป่าแล้วจึงขุดบ่อขึ้นภายหลัง เป็นการทำลายแหล่งแร่ธาตุที่มีการหมุนเวียน เพื่อให้เกิดการสมดุลตามระบบธรรมชาติในระบบนิเวศวิทยาป่าชายเลน และการทำนากุ้งวิธีนี้ยังทำความเสียหายแก่พื้นที่ป่าชายเลนมาก เพราะนอกจากจะตัดไม้ลงแล้ว ยังต้องขุดรากถอนโคนออกหมด เป็นการทำลายพันธุ์ไม้ป่าชายเลนที่มีอยู่ในบริเวณนั้น การทำลายป่าชายเลนในลักษณะนี้เป็นการเปลี่ยนสภาพจากพื้นที่ป่าไม้เป็นพื้นที่เพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างถาวร ซึ่งเป็นการทำลาย ทรัพยากรป่าไม้และระบบนิเวศป่าชายเลนด้วย
- การทำเหมืองแร่ การทำเหมืองแร่มีส่วนในการทำลายสภาพป่าและความอุดมสมบูรณ์ของป่า จนยากที่จะฟื้นให้มีความสมบูรณ์เช่นเดิมในระยะเวลาอันสั้นได้ ทั้งนี้เนื่องจากวิธีการทำเหมืองแร่ จะต้องขุดให้ลึกจนถึงสายแร่ ดินตะกอน กรวด และทรายที่ถูกพลิกขึ้นมาทับถม ทำให้ป่าชายเลนไม่สามารถฟื้นตัวเกิดได้ดังเช่นเดิม นอกจากนั้น คุณภาพของน้ำยังเลวลง เนื่องจากมีตะกอนขุ่นข้นแขวนลอยอยู่ด้วย เมื่อตกตะกอนก็จะกลายเป็นดินดอนทำให้น้ำท่วมไม่ถึง มีแต่ความแห้งแล้ง ดังนั้น การทำเหมืองแร่จึงก่อให้เกิดความเสียหายแก่ระบบนิเวศป่าชายเลนโดยตรง
- การก่อสร้างบ้านเรือนขึ้นใหม่ เมื่อมีการตัดถนนป่าชายเลน ก็จะมีการถมที่และสร้างอาคารบ้านเรือน ร้านค้า ศูนย์การค้า ที่ทำการ และสำนักงานบริเวณนั้นติดตามมา ราษฎรที่อยู่ใกล้กับป่าชายเลนก็จะบุกรุกและถือโอกาสครอบครองที่ดินเป็นของตัวเอง
- การสร้างถนนและสายส่งไฟฟ้า การสร้างถนนและสายส่งไฟฟ้าผ่านพื้นที่ป่าชายเลน จะต้องมีการทำลายป่าชายเลนส่วนที่จะสร้างขึ้น เป็นเหตุให้ป่าชายเลนลดน้อยลง ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างอื่นตามมาด้วย เช่น สัตว์ในป่าชายเลนไม่มีที่อยู่อาศัย เป็นต้น และแนวถนนจะเป็นคันกั้นน้ำทะเล ทำให้น้ำทะเลไหลลงสู่ป่าชายเลนไม่ได้ ต้นไม้ในป่าชายเลนจะตาย
- การสร้างโรงงานอุตสาหกรรม พื้นที่ป่าชายเลนที่อยู่แถบชายฝั่งทะเลส่วนหนึ่งถูกบุกเบิกเพื่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้เสียพื้นที่ป่าชายเลนเป็นจำนวนมาก และโรงงานอุตสาหกรรมยังปล่อยของเสียลงสู่ป่าชายเลนบริเวณรอบข้าง ทำให้ระบบนิเวศป่าชายเลนถูกทำลาย
- การทำนาเกลือ เนื่องจากแสงแดดเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเผาน้ำทะเลให้ระเหยแห้งจนตกผลึกกลายเป็นเกลือ ดังนั้น ป่าชายเลนโดยรอบจะถูกตัดฟันจนหมด เพื่อเปิดพื้นที่ให้โล่งมากที่สุด จึงเป็นสาเหตุให้ป่าชายเลนถูกทำลายเป็นจำนวนมาก
- การตัดไม้เกินกำลังของป่า ปริมาณความต้องการใช้ประโยชน์จากไม้ในป่าชายเลนมีจำนวนมาก เช่น การเผาถ่าน ทำเสาเข็ม ไม้ค้ำยัน เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ซึงมากกว่ากำลังการผลิตของป่าชายเลน ทำให้ป่าชายเลนถูกบุกรุกเป็นจำนวนมาก
|